บทความน่ารู้

จะทำอย่างไรกันดี ? กับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก

โพสต์26 ต.ค. 2557 23:39โดยสพป. หนองคาย เขต 2

จะทำอย่างไรกันดี ? กับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก

จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  (นายจาตุรนต์ ฉายแสง)  ได้ประกาศ  วาระแห่งชาติด้านการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ  โดยกำหนดให้ “ปี 2556 เป็นปีแห่งการรวมพลัง ยกระดับคุณภาพการศึกษา” พร้อมทั้งประกาศนโยบายเร่งด่วนที่จะลดปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของนักเรียนระดับประถมศึกษา โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตทำการสอบคัดกรองความสามารถด้านการอ่านออกเสียงและความเข้าใจในการอ่านของ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ทุกคนซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรีเขต 2 ได้ทำการประเมินความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนได้ในวันที่ 12  กันยายน 2556 พบว่า ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (เด็กปกติ) เข้าสอบจำนวน 1,889   คน สรุปผลการประเมินนักเรียนมีความสามารถอยู่ในระดับดี(อ่านได้ถูกต้องและเข้าใจเรื่องที่อ่าน) ร้อยละ 60.19   อ่านไม่ออก ร้อยละ  5.13  อ่านดีแต่ไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน ร้อยละ 3.49 ที่เหลืออยู่ระดับพอใช้และปรับปรุง  ส่วนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (เด็กปกติ) เข้าสอบจำนวน 1,691คน สรุปผลการประเมินนักเรียนมีความสามารถอยู่ในระดับดี(อ่านได้ถูกต้องและเข้าใจเรื่องที่อ่าน) ร้อยละ 63.57  อ่านไม่ออก ร้อยละ  1.36 อ่านดีแต่ไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน ร้อยละ 4.08  ที่เหลืออยู่ระดับพอใช้และปรับปรุง

570103_1เมื่อมาดูผลของการประเมินในระดับชาติ พบว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (เด็กปกติ) เข้าสอบจำนวน 497,198  คน สรุปผลการประเมินนักเรียนมีความสามารถอยู่ในระดับดี (อ่านได้ถูกต้องและเข้าใจเรื่องที่อ่าน) ร้อยละ 51.92     อ่านไม่ออก ร้อยละ 6.14 อ่านดีแต่ไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน ร้อยละ 3.19 ที่เหลืออยู่ระดับพอใช้และปรับปรุง  ส่วนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (เด็กปกติ) เข้าสอบจำนวน 498,530  คน สรุปผลการประเมินนักเรียนมีความสามารถอยู่ในระดับดี(อ่านได้ถูกต้องและเข้าใจเรื่องที่อ่าน) ร้อยละ 55.73  อ่านไม่ออก ร้อยละ 1.99  อ่านดีแต่ไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน ร้อยละ 3.39 ที่เหลืออยู่ระดับพอใช้และปรับปรุง (รายงานผลการ Scan การอ่านผ่านระบบ Triple A วันที่  2 ตุลาคม  2556)

จากข้อมูลผลการประเมิน จะเห็นได้ว่ามีเด็กนักเรียนทั้งชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6 ที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก แล้วอีกหลายชั้นที่ยังไม่ได้ทำการประเมินล่ะ? จะมีอีกมากน้อยแค่ไหน? ที่เด็กยังอ่านหนังสือไม่ได้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาไทยและอนาคตของประเทศไทย  โดยกระทรวงศึกษาธิการ  ก็ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้จึงได้ออกมาตรการเร่งรัดให้ทุกเขตพื้นที่ และโรงเรียนทำแผนเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือนักเรียนเป็นรายคน โดยกำหนดให้ “เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องไม่มี”ในโรงเรียน จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น นักจัดการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครูและพ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาและช่วยเหลือนักเรียนซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ในที่นี้ จะขอเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาและช่วยเหลือนักเรียนดังนี้

เริ่มต้นด้วยความรักและความเข้าใจไม่ว่าเด็กจะอ่านหนังสือได้หรือไม่ก็ตาม การแก้ไขปัญหาควรเริ่มต้นที่ความรักความเข้าใจ และตามมาด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ ครูผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรตำหนิ ต่อว่า หรือเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ข่มขู่ หรือลงโทษ เพราะนอกจะไม่ช่วยให้เด็กรักการอ่านแล้ว ยังอาจเป็นการเร่งให้เขายิ่งเกลียดการอ่านมากขึ้น ครูผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควร เปิดใจคุยกันกับเด็กถึงปัญหาการอ่าน เพื่อเปลี่ยนความคิดของเด็กให้เห็นความสำคัญของการอ่าน โดยในระหว่างการพูดคุยควรทำให้เด็กสัมผัสถึงความรักและความปรารถนาดีต่อเขา ไม่ใช่เรียกมาเพื่อต่อว่า หรือประจานต่อหน้าผู้ไปเยี่ยมห้องเรียน  ที่สำคัญควรให้กำลังใจ และเชื่อมั่นว่าเด็กสามารถอ่านได้ เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเองและมีกำลังใจที่จะอ่านหนังสือ

570103_2ค้นหาสาเหตุที่เด็กอ่านหนังสือไม่ได้ ครูและพ่อแม่ผู้ปกครองควรค้นหาว่า เหตุใดเด็กจึงอ่านหนังสือไม่ได้  เพื่อที่จะสามารถเข้าใจในตัวเด็ก และแก้ปัญญาได้ถูกต้อง โดยอาจใช้วิธีการสังเกต เด็กในระหว่างที่อยู่โรงเรียน หรือในระหว่างอยู่ที่บ้าน โดยสังเกตว่าเด็กมักใช้เวลาหมดไปกับการทำอะไร สังเกตดูพฤติกรรมของเด็ก ว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ รวมถึงสังเกตสภาพแวดล้อมทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านว่ามีผลต่อการอ่านของเด็กหรือไม่ เด็กสมาธิสั้นหรือไม่ เนื่องจากเด็กที่มีสมาธิสั้นเป็นเด็กที่ไม่สามารถจดจำทำสิ่งใดได้นานๆ เปลี่ยนพฤติกรรมบ่อย ทำให้ไม่สามารถจดจ่อกับการอ่านหนังสือได้ ครูผู้สอนและพ่อแม่ควรสังเกตว่าการที่เด็กสมาธิสั้นมาจากสาเหตุใด หากเกิดจากมีสิ่งที่รบกวนระหว่างที่เด็กเรียน เช่น เสียงดัง อ่านหนังสือในห้องที่มีสิ่งดึงดูดความสนใจ เป็นต้น หรือหากพบว่าการที่เด็กสมาธิสั้นนั้นเกิดจากอาการออทิสติกควรรีบนำไปพบแพทย์

ประสานความร่วมมือกันทุกคนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก   ครูทุกคนในโรงเรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองต้องประสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน ส่งต่อข้อมูลและสื่อสารกันด้วยความเข้าใจ มีเป้าหมายเดียวกัน จะทำให้การช่วยเหลือนักเรียนประสบผลสำเร็จ  โดยโรงเรียนต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง และแจ้งแนวทางการแก้ปัญหาให้ผู้ปกครองทราบ และติดต่อสื่อสารกันสม่ำเสมอ  เช่น ครูสอนให้นักเรียนอ่านหนังสือที่โรงเรียนและให้การบ้านโดยให้ไปอ่านให้ผู้ปกครองฟัง  ครูก็จะต้องประสานติดตามการอ่านของนักเรียนกับพ่อแม่ผู้ปกครอง

กระตุ้นให้เด็กอยากอ่านและเป็นแบบอย่างด้านการอ่าน ครูผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครองควรปรับเปลี่ยนหรือหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมการอ่านของเด็กอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อหน่ายเช่นให้เด็กเลือกหนังสือที่สนใจ แล้วอ่านหนังสือให้เด็กฟัง เพื่อกระตุ้นความสนใจของเด็ก การอ่านหนังสือให้เด็กฟังจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเด็ก เพราะนอกจากเด็กจะได้รู้เรื่องจากการฟังและการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องในหนังสือแล้วเด็กยังจะได้แบบอย่างการอ่าน การออกเสียง จังหวะ วรรคตอน และการใช้ภาษา  การอ่านหนังสือให้ฟังบ่อยๆเด็กจะมีคลังคำในสมองมากซึ่งจะช่วยให้เด็กสื่อสารได้ดี  ครูผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครองในระดับประถมศึกษา (ป.1-6)จึงควรอ่านหนังสือให้เด็กฟังบ่อยๆถึงแม้ว่าเด็กจะอ่านหนังสือออกแล้วก็ตาม ในบางครั้งอาจไม่ต้องอ่านให้จบเรื่องก็ได้เพื่อกระตุ้นให้เด็กอยากรู้เรื่องต่อ เด็กจะได้พยายามอ่านและจะส่งผลให้เด็กสามารถอ่านเองได้

ให้กำลังใจและรางวัลเนื่องจากการที่เด็กกว่าจะอ่านหนังสือออกต้องใช้เวลาและความมานะพยายามซึ่งเด็กอาจเบื่อหน่าย จึงควรให้กำลังใจและรางวัลกับเด็กบ้างเมื่อเด็กเริ่มอ่านได้บ้างแล้ว ครูผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กหาวิธีการที่จะพัฒนาทักษะการอ่านของตนให้ดีขึ้น เช่น ให้เด็กเลือกหนังสือที่อยากอ่าน  ร่วมกับเด็กกำหนดเวลาที่เจาะจงในแต่ละวันในการอ่าน และก็ควรปรับเปลี่ยนหรือหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะสอนให้เด็กอ่านอยู่เสมอ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

หากผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอนและพ่อแม่ผู้ปกครอง ใช้ความรักความเข้าใจ มีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือเด็กเป็นแบบอย่างที่ดีด้านการอ่าน และประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับเด็กนักเรียนที่อ่านหนังสือไม่ออกให้หมดไป เขตพื้นที่ของเราก็จะมีนักเรียน “อ่านหนังสือออก100 %”  พวกเราก็ไม่ต้องมานั่งเป็นห่วงและวิตกกังวลกันอีกต่อไปว่าจะทำอย่างไรกันดี ? กับเด็กที่อ่านหนังสือไม่ออก

 

อ้างอิง
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ “ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านต้องอาศัยความร่วมมือ”การศึกษาวันนี้ ปีที่ 7 ฉบับที่ 334

นโยบาย 11 ข้อ สพฐ.ปีงบประมาณ 2558

โพสต์7 ก.ย. 2557 14:43โดยสพป. หนองคาย เขต 2






 ดาวน์โหลดเอกสาร คลิกที่นี่

กรอบแนวคิดการนิเทศเต็มพิกัด

โพสต์22 ส.ค. 2557 23:49โดยสพป. หนองคาย เขต 2

ความหมายของ การนิเทศเต็มพิกัด
คือ การปฏิบัติหน้าที่นิเทศการศึกษาโดยระดมพลังของการนิเทศ ทั้งจำนวนอัตรากำลังบุคลากร เทคนิควิธีการ และเชื่อมโยงเครือข่ายในการนิเทศ ให้เกิดคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพสมรรถนะการนิเทศเต็มพิกัด
 สมรรถนะการนิเทศเต็มพิกัด หมายถึง พฤติกรรมการทำงานที่พึงประสงค์ของศึกษานิเทศก์ที่สามารถแก้ไขปัญหาคุณภาพการเรียนการสอนได้จริง เห็นผลเร็ว และเป็นรูปธรรมชัดเจน 
ประกอบด้วย 3 ประการ (1 ตรง 2 เต็ม) คือ 
1-ตรงประเด็น เป็นการนิเทศที่ตรงกับประเด็นที่เป็นจุดเน้นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ และประเด็นที่เป็นปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งศึกษานิเทศก์จะต้องสามารถวินิจฉัยปัญหา ค้นหาสาเหตุ และดำเนินการนิเทศเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง 
2-เต็มกำลัง เป็นการนิเทศอย่างเต็มกำลังความสามารถ เป็นการระดมสรรพกำลังที่มี ทั้งกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา/วิชาการ และทรัพยากรต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการเรียนการสอนของโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายให้เห็นผลอย่างรวดเร็ว 
 3-เต็มพื้นที่ เป็นการนิเทศที่ทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย และมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ รวมทั้งต้องเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ให้มาเป็นพลังหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในเขตพื้นที่การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม

1-3 of 3